การบริจาคเกล็ดโลหิต
เกล็ดโลหิต (Platelets หรือ Thrombocyte) คือ เซลล์หรือแผ่นเซลล์บางๆที่มีรูปร่างไม่แน่นอน ส่วนมากมีรูปร่างคล้ายดาว ไม่มีนิวเคลียส มีขนาดเล็กประมาณ 2-3 ไมครอน (1 ไมครอน = 1 ในล้านของเมตร) สามารถพบได้ทั่วไปในเลือดของคน แต่จะพบได้มากที่ม้าม โดยที่ในเลือด 1 ซีซี จะพบเกล็ดเลือดราว 350 ล้านแผ่น เกล็ดเลือดจึงเป็นเซลล์เม็ดโลหิตชนิดหนึ่งมีขนาดเล็กมากถูกสร้างจากไขกระดูกเช่นเดียวกับเม็ดเลือดแดง แต่จะถูกสร้างแบบไม่มีพัฒนาการต่อจนเป็นเม็ดเลือดแดง ซึ่งเกล็ดเลือดจะถูกปล่อยเข้าสู่ระบบหมุนเวียนเลือดโดยมีอายุราว 10วันในร่างกายก่อนจะถูกส่งไปทำลายที่ม้าม
ประโยชน์ของเกล็ดโลหิต มีคุณสมบัติเป็นตัวช่วยทำให้โลหิตแข็งเป็นลิ่มและอุดรอยฉีกขาดของเส้นโลหิตมีหน้าที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือดในขณะเกิดบาดแผล ช่วยให้ร่างกายสูญเสียเลือดน้อยลง โดยที่จะมีอายุในการทำงานเพียง 5-10 วันเท่านั้น หลังจากได้รับการบริจาคแล้ว ขณะที่ในร่างกายมนุษย์ปกตินั้นจะมีเกล็ดโลหิตประมาณ 1-5 แสนตัว/ลูกบาศก์มิลลิลิตร อย่างไรก็ตามเกล็ดโลหิตจะมีหลักการทำงานในการช่วยให้เลือดแข็งตัว 3 ขั้นตอนคือ การหลั่งเอนไซม์เพื่อช่วยให้เลือดแข็งตัว ต่อมาเกล็ดเลือดจะจับตัวเป็นก้อน เพื่อขวางทางไหลของเลือดและอุดบาดแผล ทำให้เลือดหยุดไหลและลดการสูญเสียเลือด และช่วยลดขนาดของก้อนเลือดหรือลิ่มเลือดที่อุดอยู่บริเวณปากแผล ภายหลังเมื่อเลือดหยุดไหลแล้ว
ดังนั้นถ้าผู้ป่วยเกิดภาวะเกล็ดโลหิตต่ำมากย่อมจะทำให้เกิดโลหิตออกง่าย นอกจากนี้ยังมีอีกหลายโรคที่มีสาเหตุทำให้เกล็ดโลหิตต่ำ ได้แก่ โรคมะเร็งเม็ดโลหิตขาว ,โรคที่เกี่ยวกับไขกระดูกไม่ทำงาน รวมถึงโรคติดเชื้อที่กำลังได้รับความสนใจก่อให้เกิดกระแสการตื่นตัวในการรักษาได้ทันด้วยผู้ป่วยที่มีภาวะเกล็ดโลหิตต่ำและมีปัญหาเลือดออกไม่หยุดเช่นโรคไข้เลือดออก รวมถึงเกล็ดโลหิตยังมีความจำเป็นต้องใช้ในการ รักษาโรคในมะเร็งเม็ดโลหิตขาวและโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองอีกด้วย
การบริจาคเกล็ดโลหิต (Platelets Apheresis)
เป็นการเจาะเลือดจากผู้บริจาคนำมาผ่านเครื่องปั่นแยกส่วนที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์เรียกว่า Blood cell separator เลือดจากผู้บริจาคจะผ่านเครื่องปั่นแยกเฉพาะเกล็ดเลือดออกมาใส่ในอีกถุงส่วนอื่นๆได้แก่เม็ดเลือดแดงเม็ดเลือดขาวและพลาสมาจะคืนให้แก่ผู้บริจาคโดยผ่านหลอดเลือดเดิมในการบริจาคเกล็ดเลือดจากผู้บริจาคเพียงคนเดียว (Single donor platelet) จะได้เกล็ดเลือดเท่ากับผู้บริจาคทั่วไป 8 คนใช้เวลาในการบริจาคประมาณ1-1.30ชั่วโมง
มีความสามารถในการรองรับบริการด้านการบริจาคเกล็ดโลหิตในเวลาราชการ 9.00-15.00 น.
การบริจาคเกล็ดเลือดใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมงเท่านั้นและสามารถบริจาคได้ทุก 2สัปดาห์หรือ 1 เดือน
***ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณเกล็ดโลหิต****
คุณสมบัติผู้บริจาคเกล็ดโลหิตและการเตรียมตัวก่อนบริจาคเกล็ดโลหิต
ผู้บริจาคเกล็ดโลหิตต้องมีอายุ 17-50 ปี น้ำหนัก 50 กิโลกรัมขึ้นไปและควรเป็นผู้ที่บริจาคโลหิตสม่ำเสมอ โดยที่หมู่โลหิตของผู้บริจาคจะต้องตรงกับผู้ป่วยที่ต้องการเกล็ดโลหิต ,มีเส้นโลหิตตรงข้อพับแขนชัดเจน,ไม่รับประทานยาแก้ปวดแอสไพรินในระยะเวลา 5 วันก่อนบริจาค รวมถึงมีจำนวนเกล็ดโลหิต 2 แสนตัว/ลูกบาศก์มิลิลิตร (ก่อนบริจาคจะขอเจาะโลหิตเพื่อตรวจนับจำนวนเกล็ดโลหิตก่อน) อย่างไรก็ตามเมื่อบริจาคเกล็ดโลหิต เนื่องจากการทำ apheresis มักนิยมใช้สาร citrate เป็นตัวป้องกันการแข็งตัวของเลือดจึงไปจับกับแคลเซียมในกระแสเลือดเป็นสาเหตุทำให้ผู้บริจาคเกล็ดโลหิตนั้นจะมี ionized calcium ในซีรั่มต่ำลงโดยจะพบว่ามีอาการสั่นปากชา ดังนั้นก่อนบริจาคเกล็ดเลือด เจ้าหน้าที่จะให้ผู้บริจาคเกล็ดเลือดรับประทาน จำนวน 2 เม็ด (Calcium carbonate 1200 mg) เพื่อลด Citrate Reaction ที่เกิดขึ้น
ขั้นตอนการรับบริจาคเกล็ดโลหิต
ขั้นตอนการรับบริจาคเกล็ดโลหิตจะคล้ายคลึงกับขั้นตอนการบริจาคโลหิตโดยทั่วไปซึ่งมีข้อแตกต่างคือ ต้องใช้ระยะเวลาในการบริจาคมากกว่าการบริจาคปกติ โดยที่การรับบริจาคเกล็ดโลหิตจะใช้เครื่องมือเฉพาะที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ผู้บริจาคเกล็ดโลหิตจะถูกเจาะโลหิตจากแขนข้างหนึ่งผ่านเข้าเครื่องแยกอัตโนมัติเพื่อแยกเกล็ดโลหิตออกจากเม็ดโลหิตแดงเมื่อได้เกล็ดโลหิตแล้วส่วนประกอบอื่นๆจะถูกคืนกลับเข้าสู่ร่างกายระยะเวลาในการบริจาคเกล็ดโลหิต ในลักษณะที่เข็มเจาะอยู่ติดกับตัวผู้บริจาคเกล็ดเลือดทั้งกระบวนการตั้งแต่เริ่มเจาะจนเสร็จสิ้นขั้นตอนรวมระยะเวลาทั้งหมด ประมาณ 1-1.30ชั่วโมง และสามารถกลับมาบริจาคได้อีกครั้งในทุก1เดือน โดยที่ปกติการบริจาคโลหิตทั่วไปทำได้ในทุก3 เดือน/ครั้ง
ผู้บริจาคเกล็ดโลหิตจะไม่อ่อนเพลียสามารถปฏิบัติภารกิจการงานได้ตามปกติ หลังจากบริจาคเกล็ดโลหิตไปแล้ว 1 เดือนสามารถบริจาคโลหิตได้ตามปกติยกเว้นในกรณีจำเป็นอาจให้บริจาคได้ทุก 3-5 วันแต่ไม่เกิน 24 ครั้ง/ปีและค่าเกล็ดโลหิตก่อนบริจาคไม่ต่ำกว่าเกณฑ์กำหนด
เรียบเรียงโดย ดร.ทนพญ.ณิชชา ไพรัตน์
นักเทคนิคการแพทย์ งานธนาคารเลือด
โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ