งานธนาคารเลือด
โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

คุณสมบัติผู้บริจาคโลหิต  เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนบริจาคโลหิต
1. อายุ 17ปีบริบูรณ์ -60ปี สุขภาพสมบูรณ์พร้อมที่จะบริจาคโลหิต
1.1   ผู้บริจาคโลหิตต้องมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป สามารถบริจาคโลหิตได้ แต่ถ้าอายุไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์  ต้องมีหนังสือยินยอมจากผู้ปกครอง และผู้บริจาคโลหิตครั้งแรกอายุไม่เกิน 55 ปี 

1.2   ผู้บริจาคโลหิตประจำ สามารถบริจาคได้จนถึง อายุ 60 ปี  แต่โดยปกติผู้บริจาคที่มีอายุมากกว่า  60-65 ปี บริจาคได้ทุก 4 เดือนนั้นจำเป็นต้องได้รับการตรวจสุขภาพจากศูนย์บริการโลหิต สภากาชาดไทยรับรองก่อนและบริจาคประจำสม่ำเสมอ (กรณีช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาด มีระเบียบ ห้ามมิให้ผู้สูงอายุมาโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น ดังนั้นทางธนาคารเลือดขอรับบริจาคเฉพาะอายุไม่เกิน 60 ปีเท่านั้น)  เนื่องจากทางงานธนาคารเลือด ไม่มีแพทย์ดูแลประจำหน่วยตลอดการให้บริการ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย ช่วงนี้ขอความกรุณาปฏิบัติตามระเบืยบที่่กำหนด หลังสถานการณ์สงบจะมีการปรับปรุงเงื่อนไขสำหรับผู้บริจาคที่สุขภาพแข็งแรงอายุ 65-70 ปี อาจมีการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ต่อไป

 2. สุขภาพแข็งแรง และพักผ่อนเพียงพอ
         ควรนอนพักผ่อนอย่างปกติให้เพียงพอ สุขภาพพร้อมในวันที่บริจาคโลหิต และไม่มีอาการอ่อนเพลียใดๆ
3. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงก่อนบริจาคโลหิต
ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทที่มีไขมันสูง ภายใน 6 ชั่วโมง ก่อนมาบริจาคโลหิต ได้แก่ ข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู เพราะจะทำให้พลาสมาหรือน้ำเหลือง มีสีขาวขุ่น ไม่สามารถนำไปใช้รักษา   ผู้ป่วยได้และหลังจากบริจาคโลหิต ให้รับประทานอาหารตามปกติ ไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยโลหิตที่บริจาคไป  

4.การตั้งครรภ์และการให้นมบุตร
ไม่รับบริจาคโลหิตจากผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ หรือสงสัยว่ากำลังตั้งครรภ์ และสตรีหลังคลอด ให้นมบุตร แท้งบุตร ต้องเว้นการบริจาคโลหิตอย่างน้อย 6 เดือน 

5. สตรีอยู่ระหว่างมีประจำเดือน
ไม่เป็นข้อห้ามในการบริจาคโลหิต ถ้าขณะนั้นมีสุขภาพแข็งแรง มีประจำเดือนไม่มากกว่าปกติ ร่างกายทั่วไปสบายดี ไม่มีอาการอ่อนเพลียใดๆ ก็สามารถบริจาคโลหิตได้    และสตรีที่หมดประจำเดือนแล้ว สามารถบริจาคโลหิตได้ หากสุขภาพร่างกายยังแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่มีโรคประจำตัวใดๆ
   
6.การสักหรือการเจาะผิวหนัง
ผู้ที่สักหรือเจาะผิวหนัง เช่น เจาะสะดือ เจาะจมูก ฯลฯ ให้งดการบริจาคโลหิต 12 เดือน เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี ฯลฯ ซึ่งอาจส่งต่อไปให้ผู้ป่วยรับโลหิตได้

7. ท้องเสีย ท้องร่วง ควรงดบริจาคโลหิต 7วัน
ผู้บริจาคอาจมีอาการอ่อนเพลีย และมีอาการหน้ามืดเป็นลม ภายหลังบริจาคโลหิตได้  ส่วนผู้ป่วยที่รับโลหิตอาจได้รับเชื้อที่เป็นสาเหตุของอาการท้องร่วง ที่อาจติดทางกระแสโลหิต

8. น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว โดยไม่ทราบสาเหตุในระยะ 3เดือนที่ผ่านมา
การที่น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาสั้น อาจมีสาเหตุมาจากโรคที่เป็นอันตรายร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง โรคติดเชื้อต่างๆ โดยเฉพาะโรคเอดส์ ซึ่งทำให้น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงสภาวะทางจิตใจที่มีความวิตกกังวล หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ

9. ผู้บริจาคโลหิตที่ได้รับการผ่าตัดใหญ่ หรือผ่าตัดเล็ก
ผู้บริจาคโลหิตที่ได้รับการผ่าตัดใหญ่ คือ การผ่าตัดที่ต้องใช้ยาสลบ หรือให้ยาชาเข้าไขสันหลัง งดบริจาคโลหิต 6เดือน ผู้บริจาคที่ได้รับการผ่าตัดเล็ก คือ การผ่าตัดที่ไม่ต้องใช้ยาสลบ แต่ใช้การระงับความรู้สึกเฉพาะที่ งดบริจาคโลหิต 1 เดือน เพื่อให้ผู้บริจาคมีสุขภาพแข็งแรงดีพอที่จะบริจาคโลหิต และลดโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการผ่าตัด  หากผู้บริจาคโลหิตที่ได้รับโลหิตจากการรักษา ให้งดการบริจาคโลหิต 12เดือน

10. ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน รักษารากฟัน ภายใน 3 วันที่ผ่านมา
การรักษาในช่องปากทำให้เกิดบาดแผลหรือการอักเสบภายใน 3 วัน อาจมีภาวะติดเชื้อโรคในกระแสโลหิตชั่วคราวโดยไม่มีอาการ ซึ่งเชื้อโรคในกระแสเลือด ทำให้ติดต่อไปสู่ผู้ป่วยได้ หากมีการผ่าตัดเล็ก เช่น   ผ่าฟันคุด เว้นอย่างน้อย 7 วัน จนกว่าแผลหายสนิทไม่มีอาการอักเสบ

11.เคยมีประวัติติดยาเสพติดหรือเพิ่งพ้นโทษในระยะ 3 ปี
ผู้ที่เคยมีประวัติติดยาเสพติด หรือเพิ่งพ้นโทษ อาจมีโอกาสเสี่ยงสูงต่อโรคที่มีการติดต่อทางโลหิตและน้ำเหลือง โดยเฉพาะโรคเอดส์และโรคตับอักเสบ เนื่องจากการมีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ รวมทั้งการใช้ยาเสพติดชนิดฉีดร่วมกัน โดยใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน จึงควรงดบริจาคโลหิต 3 ปี เพื่อให้มั่นใจว่าพ้นจากระยะ  ฟักตัวของโรคต่างๆ ที่อาจได้รับมาแล้ว

12. เดินทางหรือพำนักในพื้นที่ที่มีเชื้อมาลาเรียชุกชุมในระยะ 1 ปี หรือเคยป่วยเป็น โรคมาลาเรียในระยะ 3 ปี
ผู้บริจาคที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคมาลาเรีย ให้งดบริจาคโลหิตเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี หลังจากได้รับการรักษาครบถ้วนและไม่แสดงอาการใดๆ  ส่วนผู้บริจาคโลหิตที่เคยพำนักอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดหรือมีโรคมาลาเรียชุกชุม ให้งดบริจาคโลหิตเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี และผู้ที่เคยเดินทางไปในเขตที่มีการระบาดหรือมีโรคมาลาเรียชุกชุม ให้งดบริจาคโลหิตเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปีภายหลังออกมาจากเขตระบาด และไม่มีอาการผิดปกติใดๆ
 
13. ผู้บริจาคโลหิต หรือคู่ของผู้บริจาค มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ
ผู้บริจาคหรือคู่ของผู้บริจาค หากมีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ อาทิ มีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่นที่ไม่ใช่คู่ของตน  มีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน  ให้งดบริจาคโลหิตเป็นการถาวร เนื่องจาก โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางโรค อาจไม่แสดงอาการ และไม่สามารถตรวจพบเชื้อได้ในระยะแรก (window period) ดังนั้น การตอบแบบสอบถามก่อนการบริจาคโลหิตตามความเป็นจริงจึงมีความสำคัญอย่างมาก

14. ผู้บริจาคที่เคยได้รับโลหิตจากผู้บริจาคในประเทศอังกฤษหรือเคยพำนักอยู่ในประเทศอังกฤษ ระหว่างปี พ.ศ. 2523 - 2539 หรือเคยพำนักในทวีปยุโรป รวมระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523- ปัจจุบัน 
 เนื่องจากเป็นช่วงระยะเวลาการแพร่ระบาดของโรควัวบ้าในประเทศอังกฤษ และประเทศในยุโรป รวมทั้งมีรายงานการติดเชื้อวัวบ้าจากการรับโลหิต จึงงดรับบริจาคโลหิตถาวร

15. รับประทานยาแอสไพริน ยากลุ่ม NSAIDs ยาในกลุ่มดังกล่าวมีผลต่อการทำงานของเกล็ดเลือด ทำให้เลือดแข็งตัวช้า เลือดไหลแล้วหยุดยาก ดังนั้น จึงควรแจ้งแพทย์ หรือบุคลากรทางการแพทย์ให้ทราบก่อนบริจาคโลหิต เพื่อจะได้ไม่นำเกล็ดเลือดไปใช้กับผู้ป่วย

16. กรณีที่ผู้บริจาคโลหิตมีการใช้ยาปฏิชีวนะ ยาปฏิชีวนะชนิดชนิดฉีด ให้เว้นการบริจาคโลหิตหลังฉีดยาครบแล้ว 10 วัน และผู้บริจาคไม่มีอาการของโรค ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานให้เว้นการบริจาคโลหิตหลังหยุดยา 3 วัน และผู้บริจาคไม่มีอาการของโรค

17. รับประทานยาแก้อักเสบภายใน 7 วัน หรือยาอื่นๆกรณีผู้บริจาคโลหิตรับประทานยาแก้อักเสบหรือยาปฏิชีวนะ หมายความว่า ผู้บริจาคโลหิตมีการติดเชื้ออยู่ ซึ่งอาจแพร่เชื้อเข้าสู่กระแสโลหิตส่งมาถึงผู้ป่วยได้

18. เคยเป็นหรือมีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคหรือเป็นพาหะไวรัสตับอักเสบ
ผู้บริจาคที่เคยได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคไวรัสตับอักเสบชนิด เอ  หากเป็นก่อนอายุ 11 ปี เมื่อหายแล้ว สามารถบริจาคโลหิตได้  หรือผู้ที่มีอาการดีซ่าน สาเหตุจากมีนิ่วอุดตันในทางเดินน้ำดี เมื่อผ่าตัดหายแล้วก็สามารถบริจาคโลหิตได้ ผู้บริจาคที่มีประวัติการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี หรือไวรัสตับอักเสบชนิดซี  ภายหลังอายุ 11 ปี ถึงแม้ว่าจะมีผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการของ HBsAg หรือ Anti-HCV ให้ผลลบ ให้งดบริจาคโลหิตถาวร
19. ผู้ที่มีประวัติการเจ็บป่วย
19.1 โรคหัวใจ โรคตับ โรคปอด โรคเลือด โรคมะเร็ง หรือมีภาวะโลหิตออกง่ายและหยุดยาก ไม่สามารถบริจาคได้ถาวร
19.2 โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคเบาหวาน อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าสามารถควบคุมได้ด้วยยาชนิดรับประทานอย่างต่อเนื่องและไม่มีโรคแทรกซ้อนใดๆ  สามารถบริจาคโลหิตได้    
19.3 โรคภูมิแพ้ บริจาคโลหิตได้ ถ้าขณะนั้นมีอาการไม่รุนแรง เช่น จาม คัดจมูก สามารถบริจาคโลหิตได้  แต่ถ้ามีอาการ เช่น ผื่นคันทั้งตัว ไอ หอบหืด หรือใช้ยาลดภูมิต้านทาน เช่น Prednisolone ไม่สามารถบริจาคโลหิตได้
19.4 โรคไทรอยด์ ชนิดไม่เป็นพิษ ที่มีระดับฮอร์โมนไทรอยด์กลับสู่ระดับปกติ  ไม่มีอาการ เช่น กินจุ น้ำหนักลด เหนื่อยง่าย เหงื่อออกง่าย ใจสั่น สามารถบริจาคโลหิตได้  แต่ถ้าเป็นไทรอยด์ ชนิดเป็นพิษ แม้รักษาหายแล้ว ไม่ควรบริจาคโลหิตอีก  
19.5 โรคหอบหืด สามารถบริจาคโลหิตได้ หากควบคุมอาการได้ด้วยยา แต่ถ้ามีอาการมาก และเป็นบ่อย ไม่สามารถบริจาคโลหิตได้
19.6 โรคหลอดลมอักเสบ  ชนิดแบบเฉียบพลัน (acute) หลังอาการหายแล้ว 1 เดือน             สามารถบริจาคโลหิตได้
19.7 โรควัณโรค งดบริจาคโลหิต 2 ปี หลังได้รับการรักษาจนหายดี และได้รับการรับรองจากแพทย์  ที่รักษา
19.8 โรคไมเกรน หากไม่มีอาการ สามารถบริจาคโลหิตได้
19.9 โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ หลังจากหาย  2 สัปดาห์ สามารถบริจาคโลหิตได้
19.10 โรคคอตีบ หลังจากหาย 1 เดือน  สามารถบริจาคโลหิตได้
 
20. การบริจาคโลหิตไม่ทำให้อ้วน
 
เพราะสาเหตุแท้จริงที่ทำให้อ้วน อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย อาทิ การรับประทานอาหารมากเกินไป  โดยเฉพาะแป้ง และไขมัน ความบกพร่องของการเผาผลาญพลังงาน ฮอร์โมน พันธุกรรม  ขาดการออกกำลังกาย และเมื่อมีอายุมากขึ้นมีโอกาสน้ำหนักเพิ่มได้ง่าย  

*********************************************************************************************


เมื่อคุณมีความพร้อมทางร่างกาย...เรามาสร้างสิ่งดีดี ด้วยการช่วยเหลือผู้อื่นและรับผิดชอบต่อสังคมกันเถอะคะ

งานธนาคารเลือด
โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
02-926-9999
Copyright © 2024-2025 All rights reserved.
ทั้งหมด
432319
ออนไลน์
1