โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
Thammasat University Hospital

หน้าหลัก / เกี่ยวกับเรา / ประวัติโรงพยาบาล

ทศวรรษที่ 1
(พ.ศ.2531-2540) การก่อตั้งโรงพยาบาล ระดับทุติยภูมิ

        การจัดตั้งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ” เริ่มก่อสร้างในสมัยศาสตราจารย์ คุณหญิง นงเยาว์ ชัยเสรี เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากแรงศรัทธาของทายาท ม.ร.ว.สุวพรรณ สนิทวงศ์ ธนาคารทหารไทย จำกัด มูลนิธิเพื่อโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประชาคมธรรมศาสตร์ ตลอดจนประชาชน โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) พร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2529 พระองค์ยังทรงแสดงพระราชวินิจฉัยของพระองค์ต่อการสร้างโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติว่า “โรงพยาบาลนี้จะต้องเป็นที่พึ่งพิงแก่ผู้ป่วยไข้ ไม่ใช่เพื่อสำหรับชุมชนชาวธรรมศาสตร์ ชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงชาวโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่จะต้องมีประชาชนที่อยู่ห่างไกลมารับบริการทางการแพทย์อย่างแน่นอน”

        ต่อมาโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เปิดให้บริการประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2530 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ จนกระทั่งในวันที่ 29 มีนาคม 2531 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงประกอบพิธีเปิดโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติอย่างเป็นทางการ

        โดยในระยะแรกมีเพียง 2 อาคาร ที่เปิดให้บริการรักษาพยาบาลแก่ประชาชนทั่วไป คือ อาคาร ม.ร.ว.สุวพรรณ สนิทวงศ์ เปิดให้บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉิน ผู้ป่วยนอก และสำนักงานต่าง ๆ และอาคารธนาคารทหารไทย เปิดให้บริการรักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยในทุกประเภท โดยให้การบริการรักษาพยาบาลแก่นักศึกษา บุคลากรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต และขยายไปสู่ประชาชน เป็นโรงพยาบาลในระดับทุติยภูมิ โดยมีสาขาแพทย์เฉพาะทางสาขาหลัก มีเตียงผู้ป่วย 100 เตียง และบริการผู้ป่วยนอกประมาณ 60,000 รายต่อปี

ทศวรรษที่ 2
(พ.ศ.2541-2550) พัฒนาสู่โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ระดับตติยภูมิ

• เริ่มพัฒนาการดำเนินงานภายใต้การบริหารงานของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
• เริ่มพัฒนาสู่โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ระดับตติยภูมิ คือ ดูแลรักษาได้ครบวงจรมากยิ่งขึ้น มีอาจารย์แพทย์ครบทุกสาขาวิชา
• เริ่มพัฒนาเป็นศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง
• รับส่งมอบอาคารกิตติวัฒนา และอาคารดุลโสภาคย์

ทศวรรษที่ 3
(พ.ศ. 2551 - 2560) พัฒนาสู่โรงพยาบาลเฉพาะทางศูนย์ความเป็นเลิศ งานวิจัย

• รับส่งมอบอาคารกิตติวัฒนา ระยะที่ 2 เพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง มีการก่อสร้างอาคารกิตติวัฒนา ระยะที่ 3 ซึ่งการดำเนินงานขององค์กร เพื่อขยายหอผู้ป่วยจากเดิม และพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Excellent Center) รวมทั้งการวิจัยคลินิก
• การรับรองมาตรฐาน HA (Healthcare Accreditation)

ทศวรรษที่ 4
(พ.ศ. 2561-2566) การปรับโรงพยาบาลสู่ระดับตติยภูมิชั้นสูง Digital Hospital และ Hospital Management

        ในช่วงปี พ.ศ. 2561-2566 มีการดำเนินงานเป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิชั้นสูง พร้อมกับดำเนินการเรื่อง Digital Hospital ซึ่งในปี 2566 โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้ผ่านการรับรองกระบวนการคุณภาพขั้นก้าวหน้า (Advanced Healthcare Accreditation) มีระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2566 และครบอายุการรับรองวันที่ 20 เมษายน 2569 จากสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นรางวัลคุณภาพแห่งความภาคภูมิใจของพวกเราชาว รพธ. นอกจากนี้โรงพยาบาลยังมีการขยายตัวของทางกายภาพมากกว่า 100,000 ตารางเมตร ประกอบด้วยทั้งหมด 8 อาคาร ที่ได้ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา


       อาคารที่ 1     อาคารชวนชูชาติ เป็นอาคารที่อยู่ด้านหน้าอาคารกิตติวัฒนา (อุบัติเหตุและฉุกเฉิน) ก่อสร้างแล้วเสร็จ
        อาคารที่ 2     ศูนย์การแพทย์ธรรมศาสตร์ ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2566
        อาคารที่ 3     อาคารจอดรถ ขนาด 1,000-1,500 คัน
        อาคารที่ 4     อาคาร 88 ปี มธ. เป็นอาคารผู้ป่วยในอาคารใหม่
        อาคารที่ 5     อาคารธนาคารทหารไทย ด้านหน้าโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงใหม่เป็นอาคาร 3 ชั้น
        อาคารที่ 6     อาคารศูนย์ธรรมศาสตร์ธรรมรักษ์ เป็นศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ และการรักษาแบบประคับประคอง
        อาคารที่ 7     ศูนย์อาหารใหม่
        อาคารที่ 8     อาคาร 90 ปี มธ. เป็นอาคารสำหรับผู้ป่วยนอก และศูนย์นวัตกรรมสุขภาพธรรมศาสตร์

ที่ตั้ง พื้นที่ และอาคารต่างๆ

     โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 95 หมู่ 8 ตำบล คลองหนึ่ง อำเภอ คลองหลวง จังหวัด ปทุมธานี โดยมีพื้นที่รวมกลุ่มศูนย์สุขศาสตร์ ทั้งสิ้น 135 ไร่ (ตั้งแต่ถนนด้านหน้าพหลโยธินจนถึงอาคารหอพักแพทย์และพยาบาล) เป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยในปัจจุบันมีอาคารต่าง ๆ เพื่อการดำเนินการและการบริการรักษาพยาบาล ดังนี้

1. อาคาร ม.ร.ว.สุวพรรณ สนิทวงศ์
2. อาคารดุลโสภาคย์
3. อาคารกิตติวัฒนา
4. อาคารธนาคารทหารไทย
5. อาคารปัญจา สายาลักษณ์
6. อาคารบริการ
7. อาคารสมาคมธรรมศาสตร์ฯ 2554
8. อาคารชวนชูชาติ วพน.7
9. อาคารพลังใจ (บริจาคโลหิต)
10.อาคารศูนย์การแพทย์ธรรมศาสตร์
11.อาคารจอดรถ TUH Parking & Plaza
ขอบเขตการบริการ

     โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิชั้นสูงที่มีศักยภาพในการให้การรักษาได้ครบวงจรทุกสาขาวิขารวมทั้งเป็นที่รับส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลอื่น ๆให้บริการทั้งประเภทผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ผู้ป่วยฉุกเฉิน ผู้ป่วยส่วนใหญ่ของโรงพยาบาลมีภูมิลำเนาในจังหวัดปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร และจังหวัดต่าง ๆ ในภาคกลาง

• มีการดูแลรักษาโรคตามมาตรฐานวิชาชีพระดับ Supra Tertiary Care ได้แก่

อายุรศาสตร์ ,ศัลยศาสตร์ ,สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ,กุมารเวชศาสตร์ ,ออร์โธปีดิกส์ ,จักษุวิทยาโสต ศอ นาสิกวิทยา ,เวชศาสตร์ฟื้นฟู ,จิตเวชศาสตร์ ,รังสีวิทยา ,นิติเวชศาสตร์ ,พยาธิวิทยา ,วิสัญญีวิทยา ,เวชศาสตร์ชุมชน ,เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ,เวชศาสตร์ครอบครัว และทันตกรรม

• ศูนย์ความเป็นเลิศทางคลินิก(Center Of Excellence) 
จำนวน 5 ศูนย์ ได้แก่

1. ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านโรคภูมิแพ้ โรคหืดและโรคระบบหายใจ (Center of Excellence for Allergy, Asthma & Pulmonary Disease : TU-CAAP)

2. ศูนย์ความเป็นเลิศโรคหลอดเลือดสมอง (Center of Excellence for Stroke : TU- Stroke)

3. ศูนย์ความเป็นเลิศโรคเบาหวาน (Thammasat Diabetes Center of Excellence; TDC)

4. ศูนย์ความเป็นเลิศโรคหัวใจและหลอดเลือด (Center of Excellence for Cardiovascular Disease : TU-CCVD)

5. ศูนย์ความเป็นเลิศจอตา (Center of Excellence for Retina : TU-CER)

• ให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยเฉพาะทางครบวงจร ได้แก่

•  ศูนย์ส่องกล้องและหัตถการพิเศษ ศูนย์ข้อเทียม (Thammasat Joint Replacement Center)

  ศูนย์บำบัดทดแทนไตครบวงจร (Thammasat Renal Replacement Therapy Center : TRRTC)

•  ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก (Thammasat Fertility Center)

•  ศูนย์ผิวหนัง (Skin Center)

•  ศูนย์เลสิกธรรมศาสตร์ (Thammasat LASIK Center)

•  ศูนย์ตรวจวินิจฉัยและรักษาทารกในครรภ์ (Fetal Diagnosis And Therapy Center)

•  ศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ (Thammasat Multi-OrganTransplantation Center)

•  ศูนย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา (Thammasat Radiation andOncology Center : TROC)

• เป็นสถาบันการเรียนการสอน การวิจัย และการฝึกปฏิบัติของนักศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ รวมถึงโรงเรียนและสถาบันต่างๆ ที่มาศึกษาดูงาน

• เป็นสถานพยาบาลคู่สัญญาหลักของหน่วยบริการปฐมภูมิภายใต้โครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสถานพยาบาลของผู้ประกันตน สำนักงานประกันสังคม

ปัจจุบัน / อนาคต

     โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มีศักยภาพในการให้บริการรักษาพยาบาลครบทุกสาขา บริการผู้ป่วยนอกเฉลี่ยวันละประมาณ 4,000 คน และรองรับผู้ป่วยในได้ 889 เตียง (ณ สิงหาคม พ.ศ. 2567)

     ในอนาคตโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ วางแผนขยายบริการผู้ป่วยใน เป็นขนาด 1,000 เตียง เพื่อให้บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยเฉพาะทางครบวงจร รวมทั้งการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางทุกสาขา อยู่ระหว่างการก่อสร้างศูนย์การแพทย์ธรรมศาสตร์ เพื่อยกระดับการรักษาพยาบาลสู่การเป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยระดับตติยภูมิชั้นสูง (Super Tertiary) มุ่งสู่ศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทาง (Excellence Center) อีกด้วย

Copyright © 2024-2025 All rights reserved.
ทั้งหมด
1739018
ออนไลน์
7